บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาภาวะสุขภาพ พฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพ และความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยพื้นฐาน ได้แก่ เพศ อายุ สถานภาพสมรส รายได้ และภาวะสุขภาพกับพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุในชุมชน จังหวัดปทุมธานี กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป อาศัยอยู่ในชุมชนจังหวัดปทุมธานี การเลือกกลุ่มตัวอย่างใช้วิธีสุ่มตัวอย่างแบบหลากหลายขั้นตอน ได้กลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 400 คน เครื่องมือการวิจัยที่ใช้ประกอบด้วย แบบวัดภาวะสุขภาพด้านร่างกาย จิตใจ สังคม จิตวิญญาณ และแบบวัดพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพด้านความรับผิดชอบต่อสุขภาพ การออกกำลังกาย โภชนาการ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล การพัฒนาจิตวิญญาณ และการจัดการกับความเครียด เครื่องมือได้รับการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิและนำไปทดสอบค่าความเชื่อมั่น เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ นำข้อมูลมาวิเคราะห์ โดยแจกแจงความถี่ คำนวณค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ทดสอบสมมติฐานด้วยสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สันและสเปียร์แมน
ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างมีภาวะสุขภาพโดยรวมอยู่ในระดับดี (x=15.95) เมื่อพิจารณารายด้านพบว่า ภาวะสุขภาพด้านร่างกาย; ความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันอยู่ในระดับดี (x=18.95) และพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุอยู่ในระดับดี (x=3.11) โดยพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพด้านความรับผิดชอบต่อสุขภาพดีที่สุด ส่วนด้านออกกำลังกายส่วนมากอยู่ในระดับไม่ดี ภาวะสุขภาพมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 (r=.65) อายุมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 (r=-.19) สถานภาพสมรสมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (r=-.09) รายได้มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 (r=.31) ส่วนเพศไม่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพ
การศึกษาครั้งนี้สามารถให้ข้อเสนอแนะได้ว่า ในการส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาพของผู้สูงอายุควรคำนึงถึงภาวะสุขภาพ อายุ สถานภาพสมรส และรายได้ของผู้สูงอายุ