บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ (survey research) มีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหานักศึกษาที่สูบบุหรี่และไม่สูบบุหรี่ในมหาวิทยาลัย ไว้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการดำเนินงานต่อไป และเพื่อคัดเลือกตัวแทนนักศึกษาจากคณะต่างๆให้สมัครเข้ารับการอบรมและพัฒนาให้เป็นแกนนำของมหาวิทยาลัย ในการดำเนินการเผยแพร่ความรู้ ตลอดจนจัดกิจกรรมต่างๆเพื่อให้นักศึกษาสูบบุหรี่ได้ ลด ละ และเลิกสูบบุหรี่ รวมทั้งนัดกับผู้ที่เดิมก็ไม่สูบบุหรี่อยู่แล้วไม่ให้สูบตลอดไป ส่วนผู้ที่สูบก็จะ ลด ละ และเลิกสูบได้ อันจะนำไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่
กลุ่มตัวอย่างที่ทำการสำรวจเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรี จาก 10 คณะ ทั้งภาคปกติและภาคพิเศษทุกชั้นปี จำนวน 300 คน เป็นนักศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ 50 คน คณะรัฐศาสตร์ 50 คน คณะนิติศาสตร์ 30 คน คณะนิเทศศาสตร์ 10 คน คณะศิลปะศาสตร์ 20 คน คณะสาธารณสุขศาสตร์และสิ่งแวดล้อม 50 คน คณะบัญชี 20 คน คณะบริหารธุรกิจ 20 คน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 30 คน และคณะพยาบาลศาสตร์ 20 คน จากการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้นโดยใช้สัดส่วนไม่เท่ากัน เครื่องมือเป็นแบบสำรวจที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น โดยพัฒนาจากเครื่องมือของสถาบันธัญญารักษ์ ส่วนแกนนำนักศึกษาจำนวน 60 คน เลือกโดยการสมัครใจของนักศึกษาซึ่งมีอาจารย์ประจำแต่ละคณะเป็นผู้ประสานงานและชี้แจงวัตถุประสงค์ให้กับนักศึกษา เพื่อให้แกนนำนักศึกษาได้รับการพัฒนาโดยการจัดอบรมความรู้เกี่ยวกับบุหรี่ จำนวน 1 วัน การวิเคราะห์ข้อมูลใช้โปรแกรมสำเร็จรูป แสดงค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่าความสัมพันธ์ใช้สถิติ Chi-Square
ผลการศึกษาพบว่า ข้อมูลด้านพฤติกรรมในกลุ่มผู้สูบบุหรี่พบว่า สาเหตุที่สูบตามเพื่อนและเชื่อว่าบุหรี่มีอันตรายต่อสุขภาพถึงร้อยละ 98.3 สถานที่สูบส่วนใหญ่ร้อยละ 65 สูบในห้องน้ำ และร้อยละ 20.7 สูบที่โรงอาหาร เริ่มสูบบุหรี่ครั้งแรกอายุ 15 ปี ร้อยละ 19.2 และ 16 ปี ร้อยละ 13.5 อายุเฉลี่ยของผู้สูบบุหรี่ประมาณ 16 ปี ระยะของการสูบบุหรี่ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันโดยเฉลี่ย 9 ปี จำนวนบุหรี่ที่สูบเฉลี่ย 11 มวนต่อวัน สูบมากที่สุด 20 มวนต่อวัน ในด้านความสัมพันธ์พบว่า เพศและอายุมีความสัมพันธ์กับการสูบบุหรี่อย่างมีนัยสำคัญ และคณะที่นักศึกษาเรียนมีผลต่อการสูบบุหรี่ของนักศึกษาอย่างมีนัยสำคัญ (p<.05) ส่วนชั้นปีที่ศึกษาไม่มีผลต่อการสูบบุหรี่
สำหรับการพัฒนาแกนนำนักศึกษาจำนวน 60 คน ได้รับการพัฒนาโดยจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ เทคนิคการเผยแพร่ความรู้เรื่องของบุหรี่และการจัดกิจกรรมรณรงค์โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันธัญญารักษ์ ผลการประเมินพบว่า นักศึกษาแกนนำที่ผ่านการอบรมมีความรู้เรื่องบุหรี่ดีร้อยละ 80 มีทัศนคติที่ดี และสามารถจัดทำแผนการจัดกิจกรรม ลด ละ เลิก การสูบบุหรี่ในมหาวิทยาลัยได้ มีความพึงพอใจต่อโครงการร้อยละ 90 รวมทั้งคาดหวังว่าสามารถจะทำบทบาทการเป็นแกนนำนักศึกษาและขยายเครือข่าย เชิญชวนนักศึกษาคนอื่นๆเข้าเป็นสมาชิกแกนนำและทำกิจกรรมที่จะให้มหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ได้ต่อไป